ชีวิตออนไลน์ อาหาร หวานนี้มีที่มา

หวานนี้มีที่มา



หวานนี้มีที่มา..มาดูกันว่า ชนิดของน้ำตาล มีอะไรบ้าง

ใครรู้บ้างว่า ชนิดของน้ำตาล มีอะไรบ้าง แล้วแต่ละชนิดมีที่มาที่แตกต่างกันอย่างไร คนรักของหวานๆเป็นชีวิตจิตใจอย่างเราจะได้รู้ไว้ แล้วนำไปใช้ให้ถูกกับอาหารแต่ละชนิด เพื่อความอร่อยหอมหวานที่มากยิ่งขึ้นค่ะ

น้ำตาลกับชีวิตประจำวันของเรานั้นสนิทกันจนแยกกันแทบไม่ออก เราสามารถเจอน้ำตาลได้ในทุกๆที่ ไม่ว่าจะเป็นเมนูอาหารทั้งคาวและหวาน รวมไปถึงขนมชนิดต่างๆด้วย ซึ่งน้ำตาลนอกจากจะให้ความหวานแล้ว ยังให้พลังงานแก่ร่างกายอีกด้วย (น้ำตาล 1 กรัมมีพลังงาน 4 แคลอรี่) ลองสังเกตดูว่า เมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลผ่านมื้ออาหารหรือเครื่องดื่มชนิดต่างๆ จะรู้สึกสดชื่น กระชุ่มกระชวยขึ้นมาเลยค่ะ น้ำตาลที่มีวางขายในท้องตลาดก็มีหลากหลายประเภท น้ำตาลแต่ละประเภทก็มีที่มาที่ไป และความเหมาะสมในการปรุงอาหารที่แตกต่างกัน วันนี้  จะมาบอกถึงที่มาและ ชนิดของน้ำตาล กันค่ะ เวลาแม่ฝากซื้อจะได้ไม่ซื้อผิดด้วยนะ

น้ำตาลทรายขาว (Plantation , mill white sugar)

ชนิดของน้ำตาล

น้ำตาลทรายขาวเป็นน้ำตาลที่ได้จากการสกัดเอาสิ่งเจือปนออกจากน้ำตาลทรายดิบ สีของน้ำตาลทรายขาวนั้นมีตั้งแต่สีขาวไล่เรียงไปถึงสีเหลืองอ่อน เมื่อใช้มือสัมผัสจะรู้สึกถึงความชื้นเล็กน้อย เกล็ดของน้ำตาลจับตัวไม่แน่น น้ำตาลทรายขาวมีคุณค่าทางโภชนา 1 ช้อนชาอยู่ที่ 15 กิโลแคลอรี่ นิยมใช้ในครัวเรือนอย่างแพร่หลายรวมไปถึงอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสำเร็จรูป และน้ำอัดลม

น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์  (Refined sugar)

ชนิดของน้ำตาล

l

น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ แค่ชื่อก็รับประกันความขาว ความใสสุดๆ น้ำตาลชนิดนี้เป็นน้ำตาลที่มีความบริสุทธิ์สูงมาก ผลึกน้ำตาลเป็นเกล็ดใส สีขาว ปราศจากสีของกากน้ำตาลให้กวนใจ เมื่อใช้มือสัมผัสแทบจะไม่มีความชื้นอยู่เลย เป็นน้ำตาลอีกชนิดที่นิยมใช้กันทั่วไปทั้งในร้านอาหาร ในครัวเรือน รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้น้ำตาลที่มีความบริสุทธ์มากอย่างเช่น เครื่องดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง รวมไปถึงอุตสาหกรรมยาด้วย

น้ำตาลทรายธรรมชาติ (Natural Sugar)

ชนิดของน้ำตาล

น้ำตาลทรายธรรมชาติเป็นน้ำตาลที่ได้จากอ้อย 100% โดยผ่านกระบวนการชีววิธีแทนการใช้สารเคมี ไม่ผ่านการฟอกสี สีของเกล็ดน้ำตาลธรรมชาติจะออกไปทางน้ำตาลใสๆ คล้ายสีชา เมื่อใช้มือสัมผัสรู้สึกถึงความชื้นเล็กน้อย เกล็ดของน้ำตาลจับตัวกันไม่แน่นมาก มีรสชาติหวานละมุนกว่าน้ำตาลทรายขาวที่รสจะออกไปทางหวานแหลม สามารถใช้ปรุงได้ทั้งเมนูของคาวและของหวาน รวมไปถึงเครื่องดื่มด้วย

น้ำตาลทรายแดง (Soft brown sugar)

น้ำตาลทรายแดงเป็นน้ำตาลที่ได้จากน้ำอ้อยแบบเดียวกับน้ำตาลทรายธรรมชาติ แต่น้ำตาลทรายแดงนั้นลักษณะเป็นผงละเอียด มีกลิ่มหอมเฉพาะตัว ให้ความหวานน้อยกว่าน้ำตาลทรายขาว มีความชื้นสูงจึงมักจะจับตัวกันเป็นก้อน สีของน้ำตาลทรายแดงจะมีสีน้ำตาลอ่อนไล่ไปถึงสีน้ำตาลอมแดงขึ้นอยู่กับปริมาณของกากน้ำตาลที่ผสมอยู่ ถ้ามีกากน้ำตาลปะปนอยู่มากสีก็จะเข้มขึ้น รวมไปถึงรสชาติและกลิ่นก็จะชัดเจนตามไปด้วยค่ะ น้ำตาลทรายแดงมีสรรพคุณช่วยบำรุงกำลัง ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น และยังช่วยลดอาการปวดด้วยค่ะ น้ำตาลทรายแดงมักจะนิยมใช้ในอุตสาหกรรมผลิตซีอิ๊ว ผลิตน้ำตาลมะพร้าว รวมไปถึงผสมในอาหารและขนมหลากหลายชนิดเช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล เต้าฮวย และเฉาก๊วย

น้ำตาลโตนด

หรือเรียกอีกอย่างว่า น้ำตาลหม้อ เป็นน้ำตาลที่ได้มาจากน้ำหวานของช่อดอกต้นตาล นำมาเคี่ยวจนงวด จากนั้นหยอดลงแม่พิมพ์ สีของน้ำตาลโตนดแท้จะออกไปทางน้ำตาลแดง เนื้อสัมผัสละเอียด และเมื่อโดนความร้อนก็จะคืนตัวกลับไปเหลวได้ง่าย รสของน้ำตาลโตนดจะออกรสหวานชัดเจน หอมนุ่มละมุนกว่าน้ำตาลทรายมาก จึงนิยมนำมาทำอาหารทั้งคาวและหวานอย่างเช่น กล้วยบวชชี ลอดช่อง หรือจะใส่ในแกง หรือน้ำพริกกะปิก็ได้ค่ะ

น้ำตาลอ้อย

น้ำตาลอ้อยเป็นน้ำตาลที่ได้จากการนำลำอ้อยสดมารีดเอาน้ำออก แล้วจึงนำน้ำอ้อยนั้นไปเคี่ยวในกระทะใบบัวจนเหนียวได้ที่ จากนั้นเทลงพิมพ์ พักไว้จนน้ำตาลเย็นตัวและจับตัวเป็นก้อน สีและลักษณะของเนื้อสัมผัสไม่ต่างจากน้ำตาลโตนดมากนัก คือให้สีน้ำตาลนวลๆไล่ไปจนถึงน้ำตาลแดง เนื้อสัมผัสละเอียด คืนตัวง่ายเมื่อสัมผัสกับอากาศร้อน มีความหวานน้อยกว่าน้ำตาลโตนดแต่หวานมากกว่าน้ำตาลมะพร้าวนิดหน่อย และเนื่องด้วยน้ำตาลอ้อยนั้นมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวที่น้ำตาลโตนดและน้ำตาลมะพร้าวไม่มี น้ำตาลอ้อยจึงนิยมนำไปใช้ในปรุงอาหารที่เน้นความหอมเป็นหลัก เพราะน้ำตาลอ้อยจะช่วยขับกลิ่นเครื่องเทศในอาหารได้ดีกว่าน้ำตาลชนิดอื่นๆ แถมยังอุดมไปด้วยกากใยอาหารจำนวนมากอีกด้วย

น้ำตาลมะพร้าว

น้ำตาลมะพร้าวเป็นน้ำตาลที่ได้จากน้ำตาลสดที่รองมาจากงวงมะพร้าว หรือช่อดอกของต้นมะพร้าว แล้วนำมาเคี่ยวจนเดือด ลักษณะของน้ำตาลมะพร้าวจะเป็นก้อนแข็งสีน้ำตาลนวล เนื่องด้วยน้ำตาลมะพร้าวยังมีน้ำผสมอยู่ จึงเกิดความชื้นได้ง่าย และสามารถคืนตัวกลับไปเหลวเป็นน้ำเหนียวๆได้ง่ายเมื่อโดนความร้อน  แถมสีก็เข้มขึ้นด้วย  รสชาติของน้ำตาลมะพร้าวจะมีความหวานน้อยกว่าน้ำตาลทราย แต่มีความหอมมันที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ น้ำตาลมะพร้าวจึงนับว่าเป็นน้ำตาลพื้นบ้านที่อยู่คู่ครัวไทยมานาน นิยมนำมาใช้ในการปรุงอาหาร

น้ำตาลกรวด (Crystalline sugar)

น้ำตาลกรวดเป็นน้ำตาลที่ได้จากน้ำเชื่อมของอ้อย หรือ ได้จากการนำน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์มาละลาย โดยผ่านกระบวนการตกผลึกอย่างช้าๆ ไม่มีการฟอกสี ลักษณะของน้ำตาลกรวดจึงเป็นก้อนเหลี่ยมๆคล้ายกับสารส้ม มีสีขาวค่อนข้างใส มีรสหวานกลมกล่อม แต่หวานน้อยกว่าน้ำตาลทรายขาว ปัจจุบันนิยมใช้น้ำตาลกรวดกับเมนูอาหารที่ต้องการความพิถีพิถันในการปรุงเป็นพิเศษเช่น การเชื่อมผลไม้ การตุ๋นรังนก รวมไปถึงการต้มยาจีนอีกด้วย

น้ำตาลไอซิ่ง  (Icing sugar)

หรือเรียกว่า Powdered Sugar, Confectioner’s sugar ก็ได้เหมือนกันค่ะ น้ำตาลไอซิ่งได้มาจากการบดน้ำตาลทรายขาวให้ละเอียด จนมีลักษณะเป็นผงสีขาวคล้ายแป้ง มีการเติมส่วนผสมของแป้งข้าวโพด หรือแป้งมันสำมะหลังเข้าไปในกระบวนการผลิตน้ำตาลไอซิ่ง เพื่อช่วยลดการจับตัวเป็นก้อน เนื่องด้วยลักษณะของน้ำตาลไอซิ่งเป็นผงคล้ายแป้งจึงทำให้น้ำตาลไอซิ่งละลายน้ำได้ดีเยี่ยม ไม่ตกตะกอนหรือทิ้งผลึกไว้เลย ในการทำขนมหรือเบเกอรี่ชนิดต่างๆ น้ำตาลไอซิ่งจึงมักจะได้เป็นพระเอกอยู่เสมอๆ ทั้งผสมกับส่วนผสมอื่นๆ และการตกแต่งโรยหน้าขนมอบต่างๆด้วยค่ะ

น้ำตาลก้อน (Cube sugar)

หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าน้ำตาลปอนด์ ลัก

ษณะของน้ำตาลก้อนนั้นเป็นก้อนสีเหลี่ยม เกิดจากการอัดน้ำตาลทรายขาวให้เป็นก้อนแข็งๆ แล้วอบด้วยความร้อนจากแสงอินฟาเรดเพื่อลดความชื้นในน้ำตาล ให้คงเหลือไว้เพียง 0.5 – 1 % เท่านั้น จากนั้นค่อยเป่าด้วยลมเย็น ปัจจุบันนิยมใช้น้ำตาลก้อนกับเมนูเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟค่ะ

เรื่อง : ออ – ร – ญา

ภาพ : ศุภวรรณ สอาด

สไตล์ : แชร์ สวนผัก

ที่มาbaanlaesuan

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *